วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

งานที่ 2 ภาษาคืออะไร ???

   ภาษาคืออะไร ????

           ความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึง เสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้นหรือสัญลักษณ์ ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการสื่อความเข้าใจ ระหว่างกันของคนในสังคม   ช่วยสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน         ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคน ในสังคม  ถ้าคนในสังคมพูดกันด้วย ถ้อยคำที่ดีจะช่วยให้คนในสังคม อยู่กันอย่างปกติสุข  ถ้าพูดกันด้วยถ้อยคำไม่ดี   จะทำให้เกิดความบาดหมางน้ำใจกัน  ภาษาจึงมีส่วนช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ ของคนในสังคม   ภาษาเป็นสมบัติของสังคม ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมี      2  ประเภท  คือ  วัจนภาษาและอวัจนภาษา

            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2542 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ภาษา ไว้ว่า "ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม; เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยา อาการ ที่สื่อความได้


            คำว่า "ภาษา" ในภาษาไทยนั้น มาจากภาษาบาลี ภาสา และ ภาษาสันสกฤต ภาษา อย่างไรก็ตาม ในภาษากลุ่มไท-กะไดอื่นที่มีคำศัพท์บาลีและสันสกฤตน้อยกว่าภาษาไทยนั้น มักใช้คำที่มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า "ความ" ในภาษาไทย เช่น ภาษาไทใหญ่ใช้ กว๊าม  "ภาษา, "คำ" และ กว๊ามล๊าว  "ภาษาลาว", ภาษาถิ่นพายัพใช้ กำ (คำ) "ภาษา, คำ" และ กำไท (คำไธ) "ภาษาไทย", ภาษาไทดำใช้ กว๊าม  "ภาษา, คำ" และ กว๊ามแกว "ภาษาเวียดนาม", และภาษาไทลื้อใช้ ก๊ำ "ภาษา, คำ" และ ก๊ำไถ่  "ภาษาไทย" เป็นต้น ดั่งนั้น หากคำว่า "ความ" ในภาษาไทยยังมีการใช้เหมือนภาษาตระกูลไท-ไตดั่งกล่าว "ความไทย" ควรแปลว่า "ภาษาไทย

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมี  2  ประเภท  คือ  วัจนภาษาและอวัจนภาษา
  1. วัจนภาษา (verbal language)

            วัจนภาษา  หมายถึง  ภาษาถ้อยคำ  ได้แก่  คำพูดหรือตัวอักษรที่กำหนดใช้ร่วมกันในสังคม  ซึ่งหมายรวมทั้งเสียง  และลายลักษณ์อักษร  ภาษาถ้อยคำเป็นภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมีระบบ  มีหลักเกณฑ์ทางภาษา  หรือไวยากรณ์ซึ่งคนในสังคมต้องเรียนรู้และใช้ภาษาในการฟัง  พูด  อ่าน  เขียนและคิด การใช้วัจนภาษาในการสื่อสารต้องคำนึงถึงความชัดเจนถูกต้องตามหลักภาษา  และความเหมาะสมกับลักษณะ  การสื่อสาร  ลักษณะงาน  เป้าหมาย  สื่อและผู้รับสาร
วัจนภาษาแบ่งออกเป็น  2  ชนิด  คือ 
            1.  ภาษาพูด  ภาษาพูดเป็นภาษาที่มนุษย์เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น  นักภาษาศาสตร์ถือว่าภาษาพูดเป็นภาษาที่แท้จริงของมนุษย์  ส่วนภาษาเขียนเป็นเพียงวิวัฒนาการขั้นหนึ่งของภาษาเท่านั้น  มนุษย์ได้ใช้ภาษาพูดติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นอยู่เสมอ  ทั้งในเรื่องส่วนตัว  สังคม  และหน้าที่การงาน  ภาษาพูดจึงสามารถสร้างความรัก  ความเข้าใจ  และช่วยแก้ไขปัญหา
ต่าง ๆ  ในสังคมมนุษย์ได้มากมาย
           2.  ภาษาเขียน  ภาษาเขียนเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้อักษรเป็นเครื่องหมายแทนเสียงพูดในการสื่อ สาร  ภาษาเขียนเป็นสัญลักษณ์ของการพูด  ภาษาเขียนนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้บันทึกภาษาพูด  เป็นตัวแทนของภาษาพูดในโอกาสต่าง ๆ  แม้นักภาษาศาสตร์จะถือว่าภาษาเขียนมิใช่ภาษาที่แท้จริงของมนุษย์   แต่ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์  มาเป็นเวลาช้านาน  มนุษย์ใช้ภาษาเขียนสื่อสารทั้งในส่วนตัว  สังคม  และหน้าที่การงาน  ภาษาเขียนสร้างความรัก  ความเข้าใจ  และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ  ในสังคมมนุษย์ได้มากมายหากมนุษย์รู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล  โอกาส  และสถานการณ์ 
2.อวัจนภาษา ( non-verbal  language)  
       
           อวัจนภาษา  หมายถึง  เป็นการสื่อสารโดยไม่ใช้ถ้อยคำ  ทั้งที่เป็นภาษาพูดและภาษาเขียน  เป็นภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน โดยใช้อากัปกิริยา  ท่าทาง   น้ำเสียง   สายตาหรือ ใช้วัตถุ การใช้สัญญาณ และ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  หรือแสดงออกทางด้านอื่นที่สามารถรับรู้กันได้  สามารถแปลความหมายได้และทำความเข้าใจต่อกันได้
การแสดงออกด้วยอวัจนภาษา
         อวัจนภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่มีแหล่งแสดงออกด้วยอากัปกิริยา  หรือที่เกิดการแสดงออก ในหลายแหล่งด้วยกัน  ได้แก่
สัญลักษณ์ที่แสดงออกด้วยอากัปกิริยา  มีดังนี้
  1.1 เกิดขึ้นตามธรรมดาวิสัย  เช่น  การยิ้ม  การโบกมือ  การส่ายหน้า  การปัดเมื่อแมลง ไต่ตอม  เป็นต้น
  1.2  เกิดจากอารมณ์แรงเป็นเครื่องเร้า  เช่น  เวลาที่มีอารมณ์โกรธเลือดจะสูบฉีด จนหน้าแดง  มือเกร็ง  กำหมัด  เป็นต้น
  2. สัญลักษณ์แสดงออกที่ร่างกาย       
     เป็นการใช้วัตถุประกอบกับร่างกายแล้วบ่งบอกความหมาย  ได้โดยไม่ได้ แสดงกิริยาอาการ  เช่น  การแต่งกาย  เครื่องประดับ  ทรงผม  เป็นต้น  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น
  3. สัญลักษณ์แสดงออกด้วยวัตถุที่แวดล้อม    
      เป็นสิ่งที่บุคคลให้ความหมายหรือตกลงให้ สิ่งนั้นมีความหมายหนึ่ง ๆ เช่น  ลักษณะและขนาดของบ้านเรือน  สามารถบอกรสนิยม  ฐานะ  หรือเชื้อชาติของเจ้าของบ้านได้  สัญลักษณ์บางอย่างต้องการให้รู้ทั่วกัน  เช่น  ลูกศรบอกทาง  สี  แสง  เสียง  เป็นต้น
  4. สัญลักษณ์แสดงออกด้วยพฤติกรรมแวดล้อม  ได้แก่     
      สิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุ  หรือคนที่แวดล้อมที่แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  เกี่ยวข้องกับเรา  ทำให้เราต้องแสดงพฤติกรรม ตอบสนอง  เช่น  การปฏิบัติตามประเพณีต่าง ๆ  การชื่นชมศิลปกรรม  ซึ่งล้วนแล้วแต่สื่ออารมณ์และวัฒนธรรมได้
  

 ประเภทของอวัจนภาษา 

อวัจนภาษาที่ใช้สื่อสารโดยทั่วไปได้แก่
1. สายตา  (เนตรภาษา)  การแสดงออกทางสายตา เช่น  การสบตากันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารก็มีส่วนช่วยในการตีความหมาย  เช่น การสบตาแสดงออกถึงความจริงใจ  การรี่ตาแสดงออกถึงความสงสัย  ความไม่แน่ใจ  ฯลฯ     การแสดงออกทางสายตาจะต้องสอดคล้องกับการแสดงออกทางสีหน้า   การแสดงออกทางสีหน้าและสายตาจะช่วยเสริมวัจนภาษาให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น  และใช้แทนวัจนภาษาได้อย่างดี
2. กิริยาท่าทาง (อาการภาษา)  การแสดงกิริยาท่าทางของบุคคล  สามารถสื่อความหมายได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด  หรือใช้เสริมคำพูดให้มีน้ำหนักมากขึ้นได้    ได้แก่  กิริยาท่าทาง   การเคลื่อนไหวร่างกายและอากัปกิริยาท่าทางต่าง ๆ   สามารถสื่อความหมายได้มากมาย  เช่น  การเคลื่อนไหวมือ  การโบกมือ   การส่ายหน้า   การพยักหน้า   การยกไหล่   การยิ้มประกอบ การพูด  การยักไหล่  การยักคิ้ว  อาการนิ่ง   ฯลฯ  
3. น้ำเสียง (ปริภาษา)   เป็นอวัจนภาษาที่แฝงอยู่ในภาษาพูด  ได้แก่   สำเนียงของผู้พูด ระดับเสียงสูงต่ำ  การเปล่งเสียง  จังหวะการพูด  ความดังความค่อยของเสียงพูด  การตะโกน  การกระซิบ  น้ำเสียงช่วยบอกอารมณ์และความรู้สึก  นอกจากนี้ยังช่วยแปลความหมายของคำพูด  เช่น  การใช้เสียงเน้นหนักเบา  การเว้นจังหวะ  การทอดเสียง  สิ่งเหล่านี้ทำให้คำพูดเด่นชัดขึ้น  การพูดเร็ว ๆ  รัว ๆ  การพูดที่หยุดเป็นช่วง ๆ  แสดงให้เห็นถึงอารมณ์กลัว  หรือตื่นเต้นของผู้พูด  เป็นต้น
4. สิ่งของหรือวัตถุ (วัตถุภาษา)   สิ่งของหรือวัตถุต่าง ๆ  ที่บุคคลเลือกใช้  เช่น   ของใช้เครื่องประดับ  เสื้อผ้า  กระเป๋า  รองเท้า  นาฬิกา   ปากกา  แว่นตา  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้เป็นอวัจนภาษาที่สื่อความหมายได้ทั้งสิ้น 
5. เนื้อที่หรือช่องว่าง  (เทศภาษา)  ช่องว่างของสถานที่หรือระยะใกล้ไกลที่บุคคลสื่อสารกัน   เป็นอวัจนภาษาที่สื่อสารให้เข้าใจได้  เช่น   ระยะห่างของหญิงชาย   พระกับสตรี   คนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์    คนสองคนนั่งชิดกันบนม้านั่งตัวเดียวกัน  ย่อมสื่อสารให้เข้าใจได้ว่า  ทั้งสองคนมีความสนิทสนมเป็นพิเศษ  เป็นต้น
6. กาลเวลา  (กาล ภาษา)  หมายถึง  การสื่อความหมายโดยให้เวลามีบทบาทสำคัญ  เวลาแต่ละช่วงมีความหมายในตัว  คนแต่ละคน  และคนต่างวัฒนธรรมจะมีความคิดและความหมายเกี่ยวกับเวลาแตกต่างกัน  เช่น  การตรงต่อเวลาวัฒนธรรมตะวันตกถือว่ามีความสำคัญมาก  การไม่ตรงต่อเวลานัดหมายเป็นการแสดงความดูถูก  เป็นต้น   
7. การสัมผัส (สัมผัสภาษา)  หมายถึง  อวัจนภาษาที่แสดงออกโดยการสัมผ้สเพื่อสื่อความรู้สึก  อารมณ์  ความปรารถนาในใจของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร  เช่น  การจับมือ การ แลบลิ้น  การลูบศีรษะ การโอบกอด  การตบไหล่  ซึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของแต่ละสังคม  เช่นคนไทยถือมิให้เด็กสัมผัสส่วนหัวของผู้ใหญ่  เป็นต้น

         ที่มา : http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter2-1.htm
       http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2

........................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น